Call Center 1183
จะซื้อประกันบ้าน ควรกำหนดเงินเอาประกันภัยอย่างไรดี

จะซื้อประกันบ้าน ควรกำหนดเงินเอาประกันภัยอย่างไรดี

บ้านพักอาศัยถือเป็นทรัพย์สินที่มูลค่ามาก ทั้งในแง่ของมูลค่าราคาและคุณค่าทางจิตใจ แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้บ้านที่พักอาศัยตกอยู่ในสถานการณ์อันเลวร้าย เพราะนั่นจะสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน การวางแผนซื้อประกันภัยบ้านถือเป็นทางเลือกที่ควรอยู่ในแผนหากต้องการซื้อบ้าน ซึ่งการกำหนดเงินเอาประกันก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อหากเกิดเหตุสุดวิสัยแล้ว จะได้ไม่ต้องมารับความเสี่ยงไว้เอง


มูลค่าทรัพย์สินที่จะทำประกันอัคคีภัยควรกำหนดอย่างไร

การที่ซื้อประกันภัยบ้านแล้วได้รับความคุ้มครองสูงสุดตามเงื่อนไขกรมธรรม์ จำเป็นต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยให้มีมูลค่าใกล้เคียงกับทรัพย์สินที่จะทำประกันภัย โดยการคำนวณวิธีการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้

1. กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามมูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ (Replacement Cost Valuation)

2. กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน (Actual Cash Value)

ในการคำนวณจำนวนเงินเอาประกันภัยจะใช้ตัวแปรเหล่านี้ในการคิดหาค่าสินไหมทดแทน โดยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ซึ่งเท่ากับ มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของใหม่ หักด้วยค่าเสื่อมราคา ณ เวลา และสถานที่ที่เกิดความเสียหาย


ซึ่ง ค่าเสื่อมราคา หมายถึง มูลค่าทรัพย์สินที่ลดลงอันเนื่องมาจากอายุการใช้งานของทรัพย์สินนั้น และค่าเสื่อมราคาของอาคาร หมายถึง มูลค่าของอาคารที่ลดลงเนื่องจากอายุการใช้งานของอาคาร ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานของอาคารและการบำรุงรักษาอาคาร พิจารณาจากงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานระบบประกอบอาคาร

อายุการใช้งานของอาคารกำหนดประมาณ 50-60 ปี ซึ่งอัตราค่าเสื่อมคิดเป็นประมาณปีละ 1.16%-1.60% ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของอาคาร หลังอายุการใช้งาน 60 ปี เหลือเป็นมูลค่าซากทรัพย์ 20%-40% (ขึ้นอยู่กับสภาพที่แท้จริง)


หมายเหตุ : อายุการใช้งานของอาคารนี้ยกเว้นอาคารที่มีการอนุรักษ์หรืออาคารที่มีลักษณะพิเศษมีการปรับปรุงหรือบำรุงรักษาอย่างดี ค่าเสื่อมราคาอาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีความรู้ความชำนาญโดยเฉพาะในการให้ความเห็นตามสมควรได้ ขึ้นอยู่กับสภาพที่แท้จริง


ประกันภัยบ้าน, การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยบ้าน


การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย "ต่ำกว่า" มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร

ในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันที่ต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อเกิดความเสียหายจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามอัตราส่วนที่ได้รับความคุ้มครองเท่านั้น สัดส่วนที่นอกเหนือจากคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง

ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์สิน (อาคาร) 1,000,000 บาท ได้ทำประกันภัยบ้านเป็นจำนวนเงิน 700,000 บาท ต่อมาเกิดเสียหายทั้งหลัง (100%) จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 700,000 บาท (เต็มจำนวน)

แต่ถ้าเสียหายเป็นบางส่วน เช่น มูลค่าทรัพย์สินที่เสียหาย 300,000 บาท จะได้รับเงินค่าสินไหมดังนี้ โดยจะคิดตามสูตรและวิธีคำนวณ ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ = [(จำนวนเงินเอาประกันภัย /มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน ณ วันเกิดเหตุ ) x มูลค่าความเสียหาย]

เมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินด้านบนแล้ว จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้ = [(700,000/1,000,000) x 300,000] = 210,000 บาท


การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย "สูงกว่า" มูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร

ในการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยสูงกว่ามูลค่าทรัพย์สินที่แท้จริง เมื่อเกิดความเสียหายจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริงเท่านั้น แต่จะไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย นั่นหมายความว่าผู้เอาประกันภัยจะเสียเบี้ยประกันภัยส่วนที่เกินโดยเปล่าประโยชน์

ตัวอย่าง เช่น มูลค่าทรัพย์ (อาคาร) 1,000,000 บาท ได้ทำประกันภัยบ้านเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาเพลิงเกิดความเสียหายทั้งหลัง (100%) จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,000,000 บาท เท่านั้น หากทรัพย์สินได้รับความเสียหายเพียงบางส่วน เช่น 50% ก็จะได้รับชดใช้เพียง 500,000 บาท

ดังนั้นการประเมินและการกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ควรกำหนดให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง หากกำหนดต่ำไปภาระค่าใช้จ่ายส่วนต่างก็จะตกมาอยู่ที่ผู้เอาประกัน หรือถ้ากำหนดสูงไป ภาระในการจ่ายเบี้ยประกัน จะต้องรับผิดชอบสูงขึ้น แถมยังดูเหมือนว่าจะเป็นการเสียเบี้ยประกันทิ้งโดยสูญเปล่า


สูตรการคำนวณพื้นที่ใช้สอย

ในการคำนวณหาพื้นที่ใช้สอยเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการคำนวณที่นอกจากจะช่วยให้วางแผน ประเมินราคาสำหรับก่อสร้างหรือต่อเติมบ้านแล้ว ยังจะให้ทราบถึงค่าเสื่อมราคา ซึ่งข้อมูลส่วนนี้มีประโยชน์เพื่อวางแผนกำหนดวงเงินเอาประกันกับบริษัทประกันภัยอีกด้วย มาดูกันว่าพื้นที่ใช้สอยแต่ละรูปแบบจะมีการคำนวณในรูปแบบใดบ้าง


ประกันภัยบ้าน, การคิดพื้นที่ใช้สอยในบ้าน


การคิดพื้นที่ใช้สอย ทาวน์เฮ้าส์ บ้าน อาคารพาณิชย์

โดยทั่วไปจะคำนวณโดย ขนาดพื้นที่ใช้สอย = ความกว้าง x ความลึก

ตัวอย่างเช่น ความกว้าง 4 เมตร ความลึกแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 เมตร (ความลึกรวม 12 เมตร) ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยจะเท่ากับ 48 x 4 = 192 ตารางเมตร

กรณีมีชั้นลอยเฉพาะช่วงหลังคา (รวมเป็น 4 ชั้นครึ่ง) พื้นที่ใช้สอยจะเท่ากับ 4 x 4 เมตร = 16 เมตร ฉะนั้นรวมพื้นที่ใช้สอยของอาคารนี้เท่านั้น จะเท่ากับ 192 + 16 = ตารางเมตร


ขอบคุณข้อมูลจาก:

https://www.oic.or.th/th/consumer/การกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย

https://www.oic.or.th/th/consumer/ข้อมูลที่ควรทราบ



Blog Relate